Home / คลับสุขภาพ / การออกกำลังกายและกิจกรรมการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ

การออกกำลังกายและกิจกรรมการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ

การออกกำลังกายและกิจกรรมการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ นั้นควรจะดูถึงความเหมาะสมของสรีระหรือร่างกายของผู้เล่นด้วยว่ามีความเหมาะสมกับกีฬาชนิดนั้นหรือไม่ อาจรวมถึงทักษะความถนัดความชอบของแต่ละบุคคล แต่สำหรับการเล่นกีฬาเพื่ออกกำลังกายหรือเพื่อสุขภาพนั้น    ก็อาจจะคำนึงถึงแค่เพียงความชอบและความถนัดเท่านั้นอาจจะไม่ต้องมีทักษะหรือความถนัดอะไรมากมายก็สามารถเล่นกีฬาเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงได้

การเล่นกีฬานั้น ประกอบด้วยกิจกรรมปกติหรือทักษะที่อยู่ภายใต้กติกาซึ่งถูกกำหนดโดยความเห็นที่ตรงกันโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพักผ่อน การแข่งขัน ความเพลิดเพลิน ความสำเร็จ การพัฒนาของทักษะ หรือหลายสิ่งรวมกัน กีฬาเป็นกิจกรรมที่ควบคู่กับการแข่งขัน โดยการเล่นกีฬานั้นมีหลายวัตถุประสงค์อาจจะเล่นเพื่อความเป็นเลิศ เล่นกีฬาเป็นอาชีพ เหล่าดีก็ล้วนเป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับการมีสุขภาพที่แข็งแรงจากการออกกำลังกายโดยการเล่นกีฬาทั้งสิ้น และการเล่นกีฬานั้นมีหลายประเภทซึ่งขึ้นอยู่กับบุคคลว่าต้องการเล่นกีฬาชนิดใด ซึ่งกีฬาแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกันทั้งวิธีการเล่น กฎกติกามารยาท ขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัดของแต่ละบุคคล

การเลือกกีฬาเพื่อสุขภาพ

การเลือกกีฬาเพื่อสุขภาพ
      กีฬา ทุกชนิดให้ผลต่อสุขภาพแตกต่างกัน และแม้จะเป็นกีฬาชนิดเดียวกัน วิธีเล่น ความชำนาญของ ผู้เล่น ความหนัก-นาน-บ่อย ของการเล่น ก็ยังทำให้ผลต่อสุขภาพผิดแผกไปได้มาก ยิ่งเป็นกีฬาที่แข่งขันกัน ด้วยแล้ว ระดับและความสำคัญของการแข่งขันคู่แข่งขัน ตลอดจนภาวะแวดล้อมของการแข่งขัน จะเข้ามาเป็นตัวแปรเพิ่ม จนบางครั้งทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพแทนที่จะเป็นผลดี

คำว่า “กีฬาเพื่อสุขภาพ” หมายถึง การเล่นกีฬาและการออกกำลังกายที่มีจุดประสงค์แน่นอนในการพัฒนาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งอาจหมายถึงการดำรงรักษาสุขภาพที่ดีอยู่แล้วมิให้ลดถอยลง ปรับปรุงสุขภาพที่ทรุดโทรมให้ดีขึ้น ป้องปันโรคที่เกี่ยวเนื่องกับการขาดออกกำลังกาย ตลอดจนช่วยแก้ไขหรือฟื้นฟูสภาพร่างกายจากโรคบางอย่าง กีฬาเพื่อสุขภาพจึงมีลักษณะที่แตกต่างจากกีฬาแข่งขันอยู่มาก เพราะมิได้เกี่ยวข้องกับชัยชนะหรือชื่อเสียงเช่นกีฬาแข่งขัน

ลักษณะของกีฬาเพื่อสุขภาพ อาจกล่าวได้ว่ากีฬาทุกชนิดที่ใช้แข่งขัน เกมส์ หรือการละเล่นที่ใช้แรงกาย การบริหารร่างกายและการออกกำลังกายรูปแบบต่าง ๆ และแม้แต่การปฏิบัติงานหนัก หรืองานอดิเรกที่ใช้แรงกายสามารถนำมาใช้หรือดัดแปลงให้เป็นกีฬาเพื่อสุขภาพได้ทั้งนั้น แต่ทั้งนี้จะต้องจัดให้เข้ากับลักษณะของกีฬาเพื่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้

ลักษณะบังคับ :

  •  เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
  •  สามารถควบคุมความหนักเบาได้ด้วยตัวเอง
  •  มีการฝึกความอดทนของระบบการหายใจและระบบการไหลเวียนเลือด
  •  สามารถปฏิบัติเป็นประจำสม่ำเสมอได้

ลักษณะประกอบ :

  •  มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุน้อย หรือไม่มี
  •  ปฏิบัติง่าย ไม่มีกฎกติกาหรือเทคนิคที่ยุ่งยาก
  •  มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่เคร่งเครียด- ไม่สิ้นเปลืองมาก 

การเลือกกีฬาเพื่อสุขภาพ 


          เป็นการเลือกชนิดของกิจกรรมการใช้แรงกายให้ได้ประโยชน์แก่สุขภาพอย่างมากที่สุด โดยไม่จำกัดว่าจะมีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวหรือ หลายอย่างประกอบกัน ในทางปฏิบัติมักเป็นการยากที่จะเลือกกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งให้ได้ “ลักษณะของกีฬาเพื่อสุขภาพ” ครบทุกข้อ แต่ก็ไม่มีข้อห้ามใดที่ผู้ปฏิบัติจะเลือกกิจกรรมหลายอย่าง มาประกอบกัน เพื่อเป็นกีฬาเพื่อสุขภาพของตน 

จะเห็นได้ว่าการเล่นกีฬานั้นมีหลายประเภทซึ่งแต่ละประเภทนั้นก็ต่างส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้เล่นได้ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าจะเลือกเล่นกีฬาประเภทใดให้เหมาะสมกับตนเอง ถ้าเลือกกีฬาที่เหมาะสมกับตนเองแล้วการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพนั้นอาจจะตามมาด้วยทักษะการเล่นที่ยอดเยี่ยมนำไปสู่การแข่งขันในระดับต่างๆ จนอาจจะกลายเป็นความสามารถที่สร้างรายได้ไห้กับผู้เล่นกีฬาด้วย ได้ทั้งความสุขกายสบายใจแถมด้วยรางวัลจากการแข่งขัน ก็คงทำให้หลาย ๆ ท่านอยากจะเล่นกีฬากันแล้ว

ข้อควรปฏิบัติในการออกกำลังกาย

  1.  ออกกำลังกาย เป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันครั้งละ 30 นาที
  2.  ออกกำลังกายแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่าหักโหม
  3.  ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายและผ่อนคลายก่อนเลิกออกกำลังกาย
  4.  ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย
  5.  ออกกำลังกายที่ให้ความสนุกสนาน
  6.  การแต่งกายให้เหมาะสมกับชนิดของการออกกำลังกาย
  7.  ออกกำลังกายในสถานที่ปลอดภัย
  8.  ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ต้องตรวจสุขภาพก่อนออกกำลังกาย

ทุกวันนี้คนไทยเราสนใจเรื่องการออกกำลังกายกันมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีที่รัฐบาลก็ให้การสนับสนุนทำให้เราได้เห็นจำนวนสวนสาธารณะ และสนามกีฬาชุมชนเกิดขึ้นมาใหม่หลายแห่ง ในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยโดยเฉพาะคนในมือง ก็มีโอกาสสูดอากาศบริสุทธิ์ได้มากขึ้น และมีสถานที่ที่จะพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนออกกำลังกายกันได้ในราคาประหยัด 

สำหรับบางกลุ่มที่ขี้เกียจเดินทางไกล ต้องการสถานที่ออกกำลังกายที่ใกล้ตัว ลุกขึ้นมาชักชวนเพื่อนร่วมก๊วนไปฟิตเนสเซ็นเตอร์ ออกกำลังกาย ยกเวท เล่นกล้าม ว่ายน้ำ หรือแอโรบิคแด๊นซ์กันเป็นที่สนุกสนาน ทำให้สถานฟิตเนส และสปอร์ตคลับต่างๆ แจ้งเกิดขึ้นมาตามๆ กัน แตกต่างกันที่สนนราคา และการให้บริการ

เมื่อกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนยุคนี้ จึงรวบรวมดูว่า มีกิจกรรมใดติดท้อปเท็นที่คนไทยนิยมกันบ้าง 

จากการไปสังเกตการณ์ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งสวนสาธารณะ ย่านชุมชนที่อยู่อาศัย และย่านธุรกิจต่างๆ ประกอบด้วยข้อมูลส่วนหนึ่งจากสำนักงานส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) เรารวบรวมกิจกรรมสุขภาพยอดนิยมได้ว่าล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นชัดว่าส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นฐาน 4 ปัจจัย คือ ถูก(ลงทุนต่ำ) ดี (ต่อสุขภาพ) และปฏิบัติได้คนเดียว (ไม่ต้องมีคู่ หรือเป็นกลุ่ม) และข้อสุดท้าย ปฏิบัติได้ทุกเวลา

1. วิ่ง

การวิ่ง หรือจ๊อกกิ้งเพื่อสุขภาพเป็นวิธีการฟิตร่างกายของคนเกือบทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานที่มีเวลาออกกำลังกายน้อย หลายๆ คนประทับใจการวิ่งตรงที่เป็นกีฬาที่แข่งกับตัวเอง ทำได้คนเดียวไม่ต้องรอใคร หรือให้ใครรอ และไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นใดนอกเสียจากรองเท้าวิ่งดีๆ เพียงคู่เดียว สามารถวิ่งไปชมวิวไปรอบหมู่บ้าน สวนสาธารณะ หรือวิ่งเอามันบนลู่วิ่งในฟิตเนส ก็ได้ทั้งนั้น ถือว่าเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคชนิดหนึ่ง การวิ่งอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มความคงทนให้กับร่างกายทีละนิดๆ ความสนุกอยู่ที่การได้เอาชนะตัวเอง วิ่งไปให้ถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ในใจ จะวิ่งเร็ว หรือช้านั้นไม่มีผลเท่าไรนัก หากแต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ระยะทาง และความสม่ำเสมอในการวิ่ง จึงจะทำให้หัวใจ 
และปอดได้ทำงานอย่างเต็มสมรรถนะยิ่งขึ้น 

Tips:

ควรเลือกรองเท้ากีฬาสำหรับการวิ่งที่สวมใส่สบาย นุ่มกระชับเท้า น้ำหนักเบา และมีความทนทาน และรองรับแรงกระแทกดี จะยิ่งช่วยให้คุณวิ่งได้อย่างสนุก และปลอดภัยต่อเท้ามากขึ้น

ก่อนเริ่มวิ่ง ควรอบอุ่นร่างกาย บริหารข้อมือ ข้อเท้า เอว และช่วงขา ยืดเส้นยืดสายอย่างน้อย 5 นาที และภายหลังจากการวิ่งเสร็จแล้วก็ควรค่อยๆ ปรับร่างกายให้เย็นลง (Cool down) ด้วยการเปลี่ยนมาเป็นการเดินช้าๆ อีกประมาณ 5 นาที จนอุณหภูมิในร่างกายและจังหวะการหายใจเข้าสู่ภาวะปกติ จึงค่อยหยุด 

คนที่มีน้ำหนักมาก หรือยังไม่เคยวิ่งมาก่อนเลย และอยากจะเริ่มวิ่งกับเขาบ้าง อาจจะเริ่มจากการเดินก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็นเดินเร็ว และวิ่ง แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะทาง และเวลาให้ยาวนานขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับความอดทน และแรงฮึดสู้ของคุณเอง

คนที่เริ่มต้นวิ่งใหม่ๆ ควรจะวิ่งให้ได้วันละประมาณ 15 นาที แบบวันเว้นวัน จนกระทั่งรู้สึกวิ่งได้สบายขึ้น และไม่เหนื่อยเร็ว จึงค่อยเพิ่มเป็น 4 – 5 ครั้งต่อสัปดาห์ วิ่งให้ได้ครั้งละ 30 นาที แล้วร่างกายจะชินไปเอง

ควรดื่มน้ำบริสุทธิ์อย่างเพียงพอ ทั้งก่อน และหลังจากการวิ่งประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะการวิ่งจะทำให้ร่างกายเสียเหงื่อมาก น้ำที่ดื่มเข้าไปจะช่วยลดภาวะการขาดน้ำได้ หรืออาจเลือกดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปกับเหงื่อภายหลังจากการวิ่งได้ด้วย 

2. เดิน
การเดินก็เป็นการออกกำลังกายยอดนิยมในกลุ่มคนวัยทำงาน ไปจนถึงรุ่นใหญ่วัยอาวุโส ที่อาจจะไม่ถนัดกับการวิ่ง หรือไม่สามารถจะทำกิจกรรมที่ออกแรงเหนื่อยมากๆ ได้ เช่นผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคกระดูกและข้อ เป็นต้น เป็นการออกกำลังแบบแอโรบิคที่ช่วยให้ปอด และหัวใจได้ทำงานเต็มที่ ส่งผลดีต่อระบบไหลเวียนโลหิตคล้ายกับการวิ่ง คนส่วนใหญ่นิยมไปเดินเพื่อสุขภาพกันเป็นเรื่องเป็นราวในสวนสาธารณะ เดินสูดอากาศบริสุทธิ์ดูทัศนียภาพสองข้างทางชวนให้เพลิดเพลิน ยิ่งถ้าได้เดินเคียงข้างกับคนรู้ใจเดินไปคุยไปอาจจะได้การบริหารความรักเป็นเรื่องแถมท้าย แต่บางคนไม่มีเวลาไปสวนสาธารณะก็เลี่ยงไปเดินช้อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้าแทนเหมาเอาว่าเป็นการเดินเพื่อสุขภาพบริหารร่างกายไปด้วยในตัว แต่ก็ต้องบริหารเงินในกระเป๋าให้ดีด้วยในขณะเดียวกัน

Tips:
การเดินเพื่อสุขภาพให้ได้ผลดี ควรจะเดินเร็วๆ ให้ได้ระยะทางวันละ 5 – 6 กิโลเมตร วันละประมาณ 30 – 40 นาที ผลที่ได้ต่อการทำงานของปอด และหัวใจจะเกือบเทียบเท่ากับการวิ่ง หลังจากปรับตัวได้ ไม่เหนื่อยเร็วแล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาเดินให้ยาวนานขึ้น ประมาณ 45 – 60 นาทีต่อวัน ก็จะถือว่าเพียงพอสำหรับการออกกำลังกายด้วยวิธีนี้

บางคนที่ต้องการเพิ่มความหนักในการออกกำลังกายวิธีนี้อาจเพิ่มน้ำหนักด้วยการสวมถุงน้ำหนัก 1- 2 กิโลกรัม ลงไปที่ข้อมือ ข้อเข่า บั้นเอว หรือข้อเท้า ก็จะทำให้ร่างกายต้องออกแรงขณะเดินมากขึ้น แต่หากทำแล้วรู้สึกทนไม่ไหวก็ไม่ต้องฝืน กลับมาเดินเร็วตามธรรมดาก็เพียงพอแล้ว 

3. ขี่จักรยาน
การขี่จักรยานก็จัดเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมแบบแอโรบิค ที่ช่วยบริหารปอด และกล้ามเนื้อหัวใจให้แข็งแรง รวมทั้งกล้ามเนื้อส่วนล่างตั้งแต่ช่วงเอวลงไป ที่กำลังมาแรงแซงโค้งคือ การขี่จักรยานเสือภูเขาที่นักปั่นขยันเที่ยวทั้งหลายพากันจัดโปรแกรมปั่นจักรยานไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากจะได้ประโยชน์ในแง่การออกกำลังกายแล้วยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ เที่ยวไปในโลกกว้าง เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว ทั้งผู้ใหญ่ก็ชอบเด็กก็ยิ่งสนุก สมานฉันท์แนบแน่นแถมได้พบปะสมาคมได้เพื่อนใหม่ร่วมอุดมการณ์รักเที่ยวรักษ์สุขภาพอีกด้วย ดีกว่าเอาเวลาวันหยุดนอนดูทีวีเฉยๆ หรือนั่งเล่นเกมคอมพิวเตอร์ทั้งวัน บางคนที่ไม่สะดวกแบกจักรยานไปถึงต่างจังหวัด ตามหมู่บ้าน หรือสวนสาธารณะในเมืองก็มีที่กว้างๆ ให้เช่าขี่จักรยานขี่ได้หนำใจ รวมถึงการขี่จักรยานไปจ่ายตลาดทุกครั้งที่มีโอกาส ก็เป็นการหาทางออกกำลังกายไปด้วยในตัว 

การขี่จักรยานที่ถือว่าได้ออกกำลังอย่างจริงจัง ควรจะเป็นการขี่แบบเร็วๆ เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง และถ้าทำได้ทุกวันสม่ำเสมอจะดีเช่นเดียวกับการวิ่ง หรือเดิน ดังนั้นจึงเกิดเครื่องมือที่เรียกว่าจักรยานอยู่กับที่ ขึ้นมาให้ปั่นกันแม้อยู่ภายในบ้านที่ไม่มีบริเวณ การปั่นจักรยานอยู่กับที่นี้ เป็นการออกกำลังกายที่มีการกระแทกต่ำกว่าชนิดอื่นๆ จึงค่อนข้างเหมาะต่อคนที่มีปัญหาเรื่องข้อ มีบางชนิดที่มีสายวัดระดับชีพจรขณะปั่นจักรยาน ซึ่งเหมาะกับคนที่เป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง สำหรับคอยตรวจสอบระดับการเต้นของหัวใจ เพื่อระวังอันตรายจากการเหนื่อยมากเกินไปได้

Tips:
การเลือกจักรยานควรเลือกชนิดที่สามารถปรับระดับที่นั่งได้ และมีความสูงที่เหมาะสมกับตัวคุณ หากเป็นชนิดที่อยู่กับที่ ควรเลือกชนิดที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ที่คุณคิดว่าจำเป็นและเพียงพอกับความต้องการของคุณ 

4. กระโดดเชือก
เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคง่ายๆ ที่เหมาะทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะสามารถทำได้ในบ้าน ใช้พื้นที่ไม่มาก และประหยัดเงินด้วย ผู้วชาญการออกกำลังกายระบุว่า การกระโดดเชือกเป็นเวลาติดกัน 15 นาที จะให้ผลกับร่างกายคล้ายๆ กับการวิ่งจ๊อกกิ้งถึง 30 นาที และยังเป็นการฝึกความอดทน บริหารระบบหายใจ ระบบหัวใจ และการไหลเวียนโลหิต กระโดดเชือกยังเป็นการฝึกการประสานงานร่วมกันของระบบประสาท และกล้ามเนื้อ การกระโดดขึ้นลงเป็นจังหวะสม่ำเสมอติดกันเป็นเวลานาน จะได้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทั้งขาช่วงแขน

Tips:

ควรเลือกรองเท้ากีฬาที่สวมใส่สบาย นุ่มกระชับเท้า มีแรงสปริง และทนทานรับแรงกระแทกได้ดี จะช่วยให้คุณกระโดดได้คล่องตัว และสนุกมากขึ้น

ก่อนเริ่มกระโดด ต้องอบอุ่นร่างกาย และยืดเส้นยืดสายเพื่อปรับร่างกายให้พร้อมกับการออกแรงหนักๆ อย่างน้อยประมาณ 5 นาที ภายหลังจากเสร็จก็ควรคลายกล้ามเนื้อ และปรับร่างกายให้เย็นลงอีกประมาณ 5 นาทีโดยการลดความเร็วในการกระโดดให้ค่อยๆ ช้าลงจนหยุด 

ในช่วงแรกอาจเริ่มจากกระโดดน้อยๆ ประมาณ 5 นาทีหรือเท่าที่ร่างกายทนไหว แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาให้นานขึ้นทีละน้อยๆ ในแต่ละวัน พยายามทำให้ได้ถึง 30 – 45 นาที ต่อครั้ง สม่ำเสมอทุกวัน จะเห็นผลดียิ่งขึ้น 

5. รำไท้เก๊ก
ไท้เก๊ก หรือการรำมวยจีน เป็นการออกกำลังกายยอดฮิตในหมู่ผู้อาวุโส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนทั้งชาย และหญิง จะเห็นได้ในตอนเช้าตรู่ ตามสวนสาธารณะใหญ่ๆ เช่น สวนลุมพินี สวนหลวง ร.9 ฯลฯ มีกลุ่มผู้อาวุโสมารวมตัวกัน บ้างก็จัดตั้งเป็นชมรมหรือสมาคมฝึกสอนท่วงท่าการรำให้กับสมาชิกที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ 

เหตุที่ผู้สูงอายุชอบใจ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่อยู่กับที่ และไม่ต้องเกิดการกระทบกระแทกเหมือนชนิดอื่น แต่เห็นท่วงท่าการรำช้าๆ อ่อนช้อยออกอย่างนั้น เมื่อลองรำเข้าจริงๆ แล้วไม่ได้ง่ายอย่างที่ตาเห็น และเหนื่อยหนักเอาการอยู่ เพราะเน้นการเคลื่อนไหวเกือบทุกส่วนของร่างกายให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอตลอดเวลา พร้อมๆ กับหายใจให้ได้จังหวะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหว ท่ารำ 128 ท่า จะมีความต่อเนื่องตั้งแต่ท่าแรกจนท่าสุดท้าย ผู้รำจะใช้เวลาในการรำประมาณ 15 นาที ซึ่งจะต้องมีสมาธิในการรำสูง และกำหนดสายตาตามท่าทางตลอดจนจบการฝึก เป็นการนำจิตใจ และพลังมาประสานเป็นหนึ่งเดียว ประโยชน์จะได้กับกล้ามเนื้อ ทำให้แข็งแรง ข้อต่อเคลื่อนไหวไม่ติดขัด ชะลอความเ่ยวย่นของผิวหนัง การทำงานของระบบหัวใจและการหายใจดีขึ้น โดยรวมแล้วจึงทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้มีสุขภาพแข็งแรงกว่าวัยอย่างเห็นได้ชัด แถมยังเป็นโอกาสได้พบปะเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน มีสังคมให้แลกเปลี่ยนความคิด ส่งผลดีต่อสุขภาพใจ และกายได้ยิ่งขึ้นไปอีก ในปัจจุบันความสนใจได้ขยายมาถึงกลุ่มคนหนุ่มสาว และวัยทำงานมาหัดรำไท้เก็กกันมากขึ้นเรื่อยๆ 

ที่มา : https://rositacorrer.com/

About aujchara.to

Check Also

เดลิเวอรียุคโควิด กินอย่างไรให้ได้สุขภาพ

                …

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *