Home / คลับสุขภาพ / ประโยชน์การปั่นจักรยาน เพื่อสุขภาพ ห่างไกลโรค!!

ประโยชน์การปั่นจักรยาน เพื่อสุขภาพ ห่างไกลโรค!!

ประโยชน์การปั่นจักรยาน เพื่อสุขภาพ ห่างไกลโรค!! ปัจจุบันกระแสความนิยมเรื่องการขี่จักรยานได้เพิ่มขึ้นสูงมากในสังคมไทย อาจเป็นเพราะมาจากปัญหาเรื่องการจราจรที่ติดขัด ราคาพลังงาน ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ มลภาวะทางอากาศที่เป็นพิษ และความต้องการในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแต่ไม่มีเวลา เป็นต้น

        การหันมาขี่จักรยานถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ในการช่วยลดและแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะคนในกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มวัยทำงานที่ได้ให้ความสนใจ กับการหันมาขี่จักรยานเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นเทรนด์ขึ้นในสังคม ซึ่งเราจะสามารถสังเกตได้ว่าปัจจุบัน มีชมรมคนรักจักรยานเกิดขึ้น หรือว่าจะเป็นงานการกุศลในปัจจุบันที่ได้ให้ความสนใจในการเลือกใช้จักรยานมาเป็นกิจกรรมหลักในงานเพื่อดึงดูดให้คนมาร่วมงาน

        นายแพทย์อี๊ด ลอประยูร ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่าการขี่จักรยาน ถือว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ผู้ที่ขับขี่ก็ควรให้ความสำคัญในเรื่องของการเตรียมความพร้อมก่อนการขี่จักรยานด้วยเช่นกัน เนื่องจากหากเราไม่มีการเตรียมตัวให้ดีนั้น ประโยชน์ต่างๆที่เราควรจะได้รับจากการขี่จักรยานก็จะถูกแทนที่ด้วยอันตรายต่างๆแทน

      ซึ่งทางศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ได้ให้คำแนะนำในด้านการเตรียมความพร้อมหรือข้อควรระวังในการเริ่มขี่จักรยานต่างๆ ดังนี้

  • การวอร์มกล้ามเนื้อก่อนและหลังจากขับขี่ เนื่องจากการขี่จักรยานจะมีการใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง ต้นขา และน่องเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันและลดความเจ็บปวดเมื่อยล้า ป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อ ดังนั้น ผู้ขับขี่ควรวอร์มกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อนขับขี่ และยืดคลายกล้ามเนื้อหลังจากการขับขี่
  • ปรับความสูงของเบาะนั่งให้เหมาะสมกับสรีระของร่างกาย เราควรปรับความสูงของเบาะนั่งให้พอดีกับสรีระและสัดส่วนของร่างกายเรา เพื่อป้องกันไม่ได้เกิดอาการปวดหลัง เนื่องจากการงอก้มโค้งตัวมากเกินไป และเพื่อรักษาสรีระของรูปร่างให้เป็นปกติ ในข้อนี้เป็นข้อที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัญหานี้จะสามารถส่งผลเสียต่อเราในระยะยาวได้หากเราไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดี
  • หมวก ศรีษะเป็นอวัยวะที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งในร่างกาย เราควรสวมหมวกเพื่อป้องกันศรีษะของเราไม่ให้กระแทกกับพื้น ในกรณีที่เราเกิดอุบัติเหตุ และหัวฟาดพื้น
  • เครื่องแต่งกายและรองเท้าที่เหมาะสม การขี่จักรยานต้องอาศัยความคล่องตัวในการขับขี่สูงมาก ดังนั้นเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ต้องเหมาะสม ไม่พะรุงพะรัง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขับขี่ และรองเท้าควรจะต้องเป็นรองเท้าผ้าใบเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการปั่น สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้
  • น้ำเกลือแร่ ผู้ขับขี่ควรพกน้ำเกลือแร่เพื่อดื่มระหว่างพักเนื่องจากการขี่จักรยานถือว่าเป็นการออกกำลังกายอีกประเภทหนึ่ง เวลาเราปั่นจักรยาน เราจะต้องออกแรง ซึ่งนั่นจะทำให้เราสูญเสียเหงื่อไปเป็นจำนวนมาก และเพื่อรักษาสมดุลน้ำของร่างกาย ผู้ขับขี่ควรพกน้ำเกลือแร่ไว้ดื่ม เมื่อเสียเหงื่อมากเกิดอาการขาดน้ำ หรือหมดแรง การขี่จักรยาน  นับเป็นการออกกำลังกายที่ต้องใช้ทั้งสมาธิ และสมรรถภาพของร่างกายที่ดี         

ซึ่งประโยชน์ของการออกกำลังกาย มีดังนี้

  1. ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน สมรรถภาพการทำงานของหัวใจจะดีขึ้นมาก ถ้าออกกำลังกายอย่างถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ 3 เดือน ชีพจร หรือหัวใจจะเต้นช้าลง ซึ่งจะเป็นการประหยัดการทำงานของหัวใจ
  2. ลดไขมันในเลือด ซึ่งถ้าสูงจะเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
  3. เพิ่ม HDL-C ในเลือด ซึ่งถ้ายิ่งสูงจะยิ่งดี จะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
  4. ลดความอ้วน (ไขมัน) เพิ่มกล้ามเนื้อ (ทำให้น้ำหนักอาจไม่ลด)
  5. ป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน
  6. ช่วยลดความดันโลหิตถ้าสูง ลดได้ประมาณ 10-15 ม.ม. ปรอท
  7. ช่วยทำให้หัวใจ ปอด ระบบหมุนเวียนของโลหิต กล้ามเนื้อ เอ็น เอ็นข้อต่อ กระดูก ผิวหนังแข็งแรงยิ่งขึ้น ช่วยลดความเครียด ทำให้นอนหลับดียิ่งขึ้น ความจำดี เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ช่วยทำให้มีความเชื่อมั่นในตนเองยิ่งขึ้น
  8. ป้องกันโรคกระดูกเปราะ โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่ประจำเดือนหมด
  9. ช่วยทำให้ร่างกายนำไขมันมาเป็นพลังงานได้ดีกว่าเดิม ซึ่งเป็นการประหยัดการใช้แป้ง (glycogen) ซึ่งมีอยู่น้อย และเป็นการป้องกันโรคหัวใจ
  10. ช่วยป้องกันโรคมะเร็งบางชนิด เช่น ลำไส้ใหญ่ เต้านม ต่อมลูกหมาก

      การขี่จักรยานนั้นเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงในสังคมไทย ผู้ขับขี่ควรมีการเตรียมพร้อมทางร่างกายที่ดีเพื่อลดผลกระทบและผลเสียต่างๆที่จะเกิดขึ้น ทางร่างกาย รู้อย่างนี้แล้วคงจะเห็นความสำคัญของการขี่จักรยานขึ้นมาทันที เพราะนอกจากจะเป็นกีฬาแล้ว เราจะได้ออกกำลังกายไปได้ภายในตัว อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที ก็สามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพต่างๆ และสร้างเสริมสุขภาพของท่านให้แข็งแรงได้

การปั่นจักรยานถือเป็นการออกกำลังกายแบบพื้นฐานที่ทำได้ง่าย ทำได้บ่อย แค่มีจักรยานสักคันแบบไหนก็ได้ ก็ออกกำลังได้แล้วช่วยเผาผลาญไขมันส่วนเกิน ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ทำให้นอนหลับได้สนิท และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคอื่นๆมากมาย

การปั่นจักรยานงสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการปั่นจักรยานเพื่อการแข่งขัน การปั่นจักรยานเพื่อการออกกำลังกาย และการปั่นจักรยานเพื่อการลดน้ำหนัก ซึ่งแน่นอนในทุกรูปแบบของการการปั่นจักรยานเราจะได้เผาผลาญพลังงาน น้ำ กล้ามเนื้อ และไขมันออกไป โดยปริมาณการเผาผลาญนั้นจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับความเร็วในการปั่นจักรยาน น้ำหนักตัว เพศ อายุ และระยะทางที่การปั่นจักรยานนั่นเอง

การปั่นจักรยานควรเริ่มต้นอย่างช้าๆ

มีข้อแนะนำสำหรับผู้เริ่มปั่นจักรยานใหม่ๆและคนที่ไม่ได้ออกกำลังเป็นประจำว่า ควรเริ่มปั่นจักรยานอย่างช้าๆ แล้วเพิ่มความเร็วขึ้น (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความฟิตของแต่ละบุคคลด้วย) และเมื่อร่างกายฟิตขึ้นจึงค่อยๆเพิ่มความเร็วขึ้น อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการป้องกันอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ควรเริ่มด้วยการปั่นจักรยานแบบช้าๆทุกครั้ง เพื่อเป็นการอบอุ่นร่างกาย และ เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนการใช้งาน

ความเร็วกับน้ำหนักตัวส่งผลกับการเผาผลาญพลังงาน

การเผาผลาญพลังงานที่ได้จากการปั่นจักรยานนั้น จะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับความเร็วที่ปั่นจักรยาน ระยะทาง และน้ำหนักตัวของผู้ปั่นจักรยานด้วย คนที่มีน้ำหนักตัวมากจะใช้พลังงานมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวน้อย เพราะต้องใช้พลังงานในการเคลื่อนไหวร่างกายที่ใหญ่กว่านั่นเอง

การเผาผลาญพลังงานและไขมันในขณะปั่นจักรยาน

อย่างที่บอกการเผาผลาญพลังงานของร่างกายไม่ได้ใช้การเผาผลาญพลังงานจากแป้งในกล้ามเนื้อ(ไกลโคเจน) หรือไขมันอย่างใดอย่างนึงเพียงอย่างเดียว แต่ร่างกายจะใช้พลังงานจากทั้งสองแหล่งในปริมาณที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและกิจกรรมการออกกำลังกาย

ตอนเริ่มปั่นจักรยานร่างกายจะใช้พลังงานจากแป้งในกล้ามเนื้อ(ไกลโคเจน) เป็นพลังงานต้น จากนั้นเมื่อการหายใจเป็นปรกติและมีออกซิเจนเพียงพอ (การปั่นจักรยานแบบช้าๆจะหายใจได้เป็นปรกติหายใจได้เต็มที่) หรือที่เรียกว่า การออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน (Aerobic Exercise) ร่างกายจะค่อยๆใช้พลังงานจากไขมันในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งกลไกนี้อาจใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที

ในขณะที่การปั่นจักรยานเร็วๆจะทำให้เราหายใจเอาออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดต่ำกว่า ช่วงหายใจสั้นกว่า หรือเรียกว่าการออกกำลังกายโดยไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Exercise) เมื่อออกซิเจนไม่เพียงพอที่จะทำให้กระบวนการเผาผลาญไขมันทำได้ทันการใช้งาน ร่างกายจึงใช้พลังงานจาก กล้ามเนื้อ(ไกลโคเจน) สูงกว่า

ปั่นจักรยานช้าหรือเร็วอันไหนได้ผลมากกว่า

มาถึงตรงนี้ต้องมองว่าเป้าหมายของผู้ปั่นจักรยานต้องการสิ่งไหนมากกว่ากัน หากต้องการลดไขมันในร่างกายก็ควรปั่นจักรยานช้าๆเพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญเอาไขมันมาใช้ได้มากกว่า (แต่ต้องใช้เวลาให้มากพอ) แต่ถ้ามองถึงเรื่องกล้ามเนื้อและความฟิตของร่างกาย การปั่นจักรยานเร็วๆก็จะตอบโจทย์ได้มากกว่า จากเหตุผลดังกล่าวผู้รู้ส่วนใหญ่จึงนำเอาข้อดีของทั้งสองการปั่นจักรยานมาแนะนำ  คือการฝึกแบบปั่นจักรยานช้าสลับเร็ว (Interval training) เพื่อให้ร่างกายได้ทั้งการเผาผลาญไขมัน และได้ความฟิตของร่างกายไปพร้อมๆกัน

สำคัญที่สุดไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ขอให้ปั่นจักรยาน

ถ้าหากต้องการให้การลดน้ำหนักและลดไขมันได้ผล การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายแบบ Aerobic ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้ หากเลือกการปั่นจักรยานมาใช้เผาผลาญไขมัน ควรเลือกความเร็วที่เราทำได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ทำอย่างน้อย 40 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ และหมั่นปรับแผนการปั่นจักรยานทุกๆ 4 สัปดาห์ โดยเพิ่มที่ความหนัก เพิ่มความถี่ หรือเพิ่มระยะเวลา ตามความแข็งแรงของร่างกายที่เพิ่มขึ้น

หรือเลือกการปั่นจักรยานแบบช้าสลับเร็ว ซึ่งวิธีการนี้ไม่ว่าจะปั่นจักรยานช้าหรือเร็วคุณก็จะสามารถเห็นพัฒนาการของร่างกายและสามารถลดได้ตามเป้าหมายได้อย่างไม่ยากเย็น และที่สำคัญอย่าลืมเรื่องโภชนาการ หากคุณออกกำลังกายแต่กินเข้าไปเยอะกว่า คุณก็ไม่ต่างกับหมูที่แข็งแรง

การขี่จักรยานดีกว่าการวิ่ง เพื่อไม่ให้นักวิ่งหรือผู้ที่รักการวิ่งทั้งหลายเข้าใจผิดหรือเสียใจไปว่าผู้เขียนไม่เห็นความดีของการวิ่ง ก็ต้องกล่าวก่อนว่า การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย มันเผาไขมันและคาร์โบไฮเดรทได้ดี มีค่าใช้จ่ายต่ำ อยู่ในกลุ่มการออกกำลังกายที่ถูกที่สุด และเป็นการออกกำลังที่ทำร่วมหรือประสานไปกับการออกกำลังกายอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าจะมาโต้กันว่าอะไรดีกว่ากัน ก็เห็นจะต้องยืนยันว่า การขี่จักรยานดีกว่าการวิ่ง มาดูเหตุผลกันครับ 

1. ง่ายกว่าและเบากว่า
จริงอยู่ที่การวิ่งเผาผลาญไขมันและคาร์โบไฮเดรทคิดออกมาเป็นแคลอรีต่อระยะทางมากกว่าการขี่จักรยาน แต่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลเท่าที่พวกเขาสามารถขี่จักรยานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าพวกเขามีน้ำหนักมากหรือหุ่นยังไม่เพรียว ซึ่งน้ำหนักและหุ่นไม่เป็นปัญหาในการขี่จักรยาน ยิ่งกว่านั้นเมื่อคุณวิ่ง คุณต้องยกร่างกายพร้อมน้ำหนักขึ้นจากพื้นโลกเพื่อขับเคลื่อนตัวไปข้างหน้า เมื่อยกขึ้นแล้วก็ต้องตกกลับมาหาพื้น ตรงนี้จะเกิดแรงกระแทก ซึ่งร่างกาย โดยเฉพาะข้อต่อในส่วนขา ต้องดูดซับเข้าไป ทั้งการยกขึ้นและกระแทกลงนี่เองที่ทำให้การวิ่งสัก 5 กิโลเมตรยากกว่า เหนื่อยกว่า หนักกับร่างกายมากกว่าการขี่จักรยาน 10 กิโลเมตรหรือแม้กระทั่ง 30-40 กิโลเมตร การมีน้ำหนักมากยัง “ลงโทษ” คนวิ่งมากกว่าทำกับคนขี่จักรยาน น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาแต่ละกิโลกรัมจะทำให้คนวิ่งไปได้ช้าลง ในขณะที่มีผลน้อยกว่ามากกับคนขี่จักรยานเมื่อเคลื่อนที่ไปบนพื้นผิวแบบเดียวกัน

2. สร้างความเสียหายกับร่างกายน้อยกว่า
การวิ่งกระทำกับร่างกายหนักกว่าการขี่จักรยาน ไม่ว่าคุณปั่นจักรยานหนักเท่าใด การศึกษาชิ้นหนึ่งเปรียบเทียบนักวิ่งแข่งกับนักแข่งจักรยานที่ต่างได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี โดยให้ออกกำลังกายติดกันสามวันๆ ละสองชั่วโมงครึ่ง พบว่านักวิ่งมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อกล้ามเนื้อมากกว่าร้อยละ 133-404 อาการอักเสบมากกว่าร้อยละ 256 และความเจ็บปวดกล้ามเนื้อมากกว่าร้อยละ 87 เมื่อเทียบกับนักจักรยานในช่วงการฟื้นตัว 38 ชั่วโมงหลังการออกกำลังกายนั้น เดวิด นีแมน ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขที่ Appalachian State University ในสหรัฐอเมริกา หัวหน้าคณะที่ทำการศึกษาครั้งนี้เปิดเผยว่า ทางคณะรู้อยู่แล้วว่าการวิ่งสร้างความเครียดกับร่างกายมากกว่า แต่ก็แปลกใจที่ระดับความเสียหายต่อกล้ามเนื้อและการอักเสบนั้นมากกว่าที่คาดไว้มาก การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นจากการวิ่งนั้นมากกว่ามาก ทำให้ยากกว่าที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะรับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้เขียนได้ฟังมาจากนักจักรยานหลายคนว่าเคยเป็นนักวิ่งมาก่อน แล้วเกิดการบาดเจ็บจึงหันมาขี่จักรยานแทน อาการเจ็บซึ่งส่วนมากเกิดที่หัวเข่าหายไป และยังได้ออกกำลังกายเหมือนเดิม

3. ไปได้หลายที่มากกว่า ทำอะไรได้มากกว่า
การที่เราสามารถขี่จักรยานได้หลายๆชั่วโมงทำให้เราสามารถไปยังสถานที่น่าสนใจได้หลายแห่ง ครอบคลุมพื้นที่ได้มากในระยะเวลาค่อนข้างสั้น คุณจะไม่ได้เห็นการวิ่งเป็นร้อยเป็นพันกิโลเมตรแบบการขี่จักรยาน อย่างรายการที่ยิ่งใหญ่ของโลก Tour de France หรือแม้กระทั่งรายการที่จัดว่าเล็กอย่าง Tour of Thailand เดี๋ยวนี้มีรายการแข่งจักรยานตั้งแต่ธรรมดาๆ ไปจนถึงชั้นเยี่ยมนับเป็นร้อยๆ รายการทั่วโลกในแต่ละปี นอกจากนั้น เมื่อคุณขี่จักรยาน คุณยังสามารถเอาของติดตัวไปได้ง่ายกว่า มากสิ่งกว่าเมื่อคุณวิ่ง ไม่เพียงแต่เอาของใส่กระเป๋าเสื้อไปเท่านั้น คุณยังสามารถสะพายกระเป๋าหรือเป้ และติดตั้งอุปกรณ์เสริมให้สามารถขนของไปกับจักรยานได้มากขึ้น ทำให้คุณสามารถทำอะไรได้หลายอย่างด้วยการขี่จักรยานนอกจากการออกกำลังกายที่ได้อยู่แล้ว รวมทั้งการใช้เป็นวิธีการเดินทางไปทำกิจต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และใช้ในการขนส่งสินค้า

4. กดความหิว
ในประเด็นนี้ การวิ่งกับการขี่จักรยาน “เสมอกัน” ครับ ครั้งหนึ่งนักวิจัยเคยเชื่อกันว่าการวิ่งมีประสิทธิผลมากกว่าการขี่จักรยานในแง่การกดฮอร์โมนความหิวตัวสำคัญที่ชื่อ acylated ghrelin แต่ล่าสุดไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ในการศึกษาที่เปรียบเทียบอำนาจในการกดความอยากอาหารที่เกิดจากการวิ่งอย่างแข็งขันเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงกับอำนาจเดียวกันที่เกิดจากการขี่จักรยานอย่างแข็งขันเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง คณะผู้วิจัยชาวอังกฤษพบว่า ทั้งการวิ่งและการขี่จักรยานกดฮอร์โมนความหิวเกือบเท่ากัน แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ปั่นจักรยานอย่างหนักหนึ่งชั่วโมงก็ยังง่ายกว่าวิ่งหนักๆ ในเวลาหนึ่งชั่วโมงเท่ากัน ดังนั้นหากหวังผลเท่ากัน ขี่จักรยานดีกว่า

5. แสดงตัวตนในแบบของตนเองได้มากกว่า
ในเรื่องนี้ การวิ่งตกท้ายห่างการขี่จักรยานแบบไม่เห็นฝุ่น การขี่จักรยานเป็นกีฬาที่นักกีฬาสามารถแสดงบุคลิกความเป็นตัวตนออกมาได้เต็มที่มากที่สุดกว่ากีฬาใดๆ และสามารถทำให้เป็น “แฟชั่น” ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ตัวจักรยานทั้งคันและชิ้นส่วนต่างๆที่มาประกอบเป็นจักรยาน หมวกนิรภัย แว่นตา ถุงเท้า รองเท้า กระเป๋าใส่ของติดจักรยาน ชุดขี่จักรยาน ไม่ว่าจะเป็นชุดทั้งตัว เสื้อ กางเกง ถุงมือ ปลอกแขน ผ้าปิดหน้า(ผ้าบัฟ) และอุปกรณ์แต่งจักรยานอีกมากมายแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีขีดจำกัด

6. ว้าว!
การขี่จักรยานให้ความรู้สึกเหมือนกับว่า ว้าว คุณกำลังบินไปในอากาศ เพราะคุณสามารถใช้พลังอันยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ในธรรมชาติ คือแรงโน้มถ่วงกับแรงเฉื่อย มาขับเคลื่อนให้รถจักรยานของคุณแล่นไปได้โดยที่คุณไม่ต้องออกแรงปั่น บางครั้งด้วยความเร็วที่น่าหวาดเสียว เช่น ยามลงเขา มีความสุขกับสายลมที่พัดผ่านเส้นผม ซึ่งเกิดขึ้นแม้คุณจะใส่หมวกนิรภัยก็ตาม และลูบไล้ร่างกาย เป็นรางวัลหลังจากที่คุณออกแรงปั่นจนได้ที่แล้ว แต่ถ้าคุณวิ่งและหยุดก้าวเท้าไม่ใส่พลังงานเข้าไปเมื่อใด สิ่งที่เกิดขึ้นคือการยืนนิ่งอยู่กับที่ คุณไม่ได้ขยับเขยื้อนไปไหนเลย ไม่ได้ความสุขใจอย่างที่ได้กับการขี่จักรยาน

7. เติบใหญ่(และแก่เฒ่า)ไปด้วยกัน
การขี่จักรยานเป็นสิ่งที่คุณสามารถหาความสุขจากมันได้ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าใดก็ตาม ตั้งแต่เริ่มเดินได้ไปจนวัยชรา การออกกำลังกายที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้สูงอายุทำคือ การเดิน ว่ายน้ำ และขี่จักรยาน ไม่มีการวิ่งเลย ดังนั้นถ้าคุณมองหา “กีฬาตลอดชีวิต” แล้ว การขี่จักรยานก็เข้าใกล้เป้าหมายอุดมคตินี้มากที่สุด อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนแรก แม้คุณจะเดินไม่ได้ คุณก็ยังขี่จักรยานได้เสมอ

ที่มา : https://rositacorrer.com/

About aujchara.to

Check Also

เดลิเวอรียุคโควิด กินอย่างไรให้ได้สุขภาพ

                …

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *