Home / คลับสุขภาพ / ประคบร้อนอย่างไรจึงจะเกิดผลดี

ประคบร้อนอย่างไรจึงจะเกิดผลดี

ประคบร้อน คือ วิธีช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตในบริเวณที่เกิดอาการเจ็บปวด ตึง หรือเกร็ง เช่น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือเส้นเอ็น การประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวให้ดีขึ้นโดยการช่วยให้ผ่อนคลาย เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ หรือฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหาย เป็นต้น

ประคบร้อน

ประคบร้อนมีประโยชน์อย่างไร ?

ประคบร้อนจะช่วยให้การไหลเวียนโลหิตบริเวณที่ประคบดีขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดอาการปวดและบวมได้เป็นอย่างดี และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้กล้ามเนื้อและข้อต่อที่ตึงหรือเกร็งคลายตัวลง และยังช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายหรือเกิดความเสียหายให้ดีขึ้นได้อีกด้วย

นอกจากนั้น วิธีประคบร้อนยังมีประโยชน์ในการบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับดวงตา โดยจะช่วยบรรเทาอาการปวด ผ่อนคลายอาการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต และอาจช่วยฟื้นฟูบาดแผลหรือปัญหาอื่น ๆ ที่มีผลกระทบกับดวงตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างอาการที่การประคบร้อนสามารถช่วยบรรเทาได้ มีดังนี้

  • อาการปวดข้อหรือข้ออักเสบ (Arthritis) วิธีประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการข้อฝืดและช่วยคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง อาจทำให้ผู้ป่วยข้ออักเสบสามารถเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น
  • อาการปวดศีรษะ ใช้วิธีประคบร้อนจะช่วยคลายอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อที่คอซึ่งเป็นอีกต้นเหตุงของอาการปวดศีรษะ
  • อาการเคล็ดขัดยอก (Sprains) วิธีประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการข้อฝืดที่เกิดขึ้นภายหลังจากการอักเสบได้เป็นอย่างดี
  • โรคเอ็นอักเสบเรื้อรัง (Tendinosis) วิธีประคบร้อนจะช่วยบรรเทาความฝืดหรือเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นภายหลังจากการอักเสบได้
  • บรรเทาอาการทางดวงตา สามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธี
    • ประคบร้อนแบบแห้ง ด้วยการใช้ผ้าคลุมแผ่นความร้อนหรือขวดใส่น้ำร้อน เป็นวิธีช่วยให้สามารถประคบลงเป็นบริเวณกว้างได้ดี
    • ประคบร้อนแบบชื้น ด้วยการใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นและบีบให้พอหมาดและวางไว้บริเวณที่ต้องการ ซึ่งวิธีนี้จะมีประสิทธิภาพมากในการช่วยบรรเทาอาการปวด

การประคบร้อนหรือการบำบัดด้วยความร้อนยังถูกนำมาใช้ช่วยในการรักษาแบบเป็นทางการ เช่น ความร้อนจากการอัลตราซาวด์สามารถนำมาช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากเอ็นอักเสบได้

นอกจากนั้น เราสามารถเลือกวิธีประคบร้อนหรือบำบัดด้วยความร้อนได้ตามเหตุที่เกิด ไม่ว่าจะใช้เฉพาะที่ ใช้ในบริเวณที่กว้างขึ้น หรือบำบัดด้วยความร้อนทั่วทั้งร่างกาย โดยการรักษาเฉพาะที่จะใช้ในบริเวณที่มีความเจ็บปวดบริเวณเดียวหรือบริเวณที่ไม่ใหญ่มาก เช่น รักษากล้ามเนื้อตึงด้วยการใช้แผ่นเจลร้อนหรือขวดใส่น้ำร้อนประคบลงบริเวณนั้น ๆ

การประคบร้อนที่มีบริเวณกว้างขึ้น เหมาะกับอาการฝืดขัดหรืออาการเจ็บปวดที่มีบริเวณกว้าง ซึ่งอาจใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนหรือแผ่นให้ความร้อนขนาดใหญ่ประคบ และการใช้ความร้อนรักษาแบบทั่วทั้งร่างกายซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักเป็นอย่างดี คือ อบซาวน่าหรือแช่น้ำร้อน เป็นต้น

ประเภทของการประคบร้อน

ประคบร้อนมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ ประคบร้อนแบบแห้งและแบบชื้น

  • ประคบร้อนแบบแห้ง เป็นวิธีที่จะใช้ผ้าห่ออุปกรณ์ให้ความร้อนเอาไว้เพื่อป้องกันการสัมผัสกับผิว ใช้แผ่นให้ความร้อนแบบแห้งหรือขวดน้ำร้อนในการประคบรักษา รวมไปถึงอบซาวน่า ซึ่งการประคบร้อนแบบแห้งเป็นวิธีที่มีความสะดวกและใช้งานได้ง่าย
  • ประคบร้อนแบบชื้น เป็นวิธีที่ใช้ผ้าชุบน้ำ ใช้แผ่นให้ความร้อนแบบชื้น หรือแช่น้ำร้อนในการรักษา ซึ่งวิธีประคบร้อนแบบชื้นนี้จะมีประสิทธิภาพในการลดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อได้ดีกว่าแบบแห้งเล็กน้อย

ข้อควรรู้ในการประคบร้อน

การบำบัดด้วยความร้อนหรือประคบร้อนนั้นจะมีผลดีหากใช้ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งวิธีประคบร้อนสามารถแบ่งเวลาในการใช้ได้เป็น 2 แบบ คือ

  • สำหรับอาการฝืดที่ข้อ ตึงหรือเกร็งที่มีอาการเล็กน้อย โดยทั่วไปจะใช้เวลาในการประคบประมาณ 15-20 นาที เท่านั้น
  • สำหรับอาการเจ็บปวดปานกลางไปจนถึงรุนแรง อาจใช้เวลาในการประคบร้อนหรือบำบัดด้วยความร้อนด้วยเวลาที่มากขึ้นได้ เช่น อาบหรือแช่น้ำอุ่นเป็นเวลา 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง

ประคบร้อนและประคบเย็น มีข้อแตกต่างกันอย่างไร?

โดยทั่วไปการประคบเย็นจะมีประโยชน์ในการช่วยลดการอักเสบให้น้อยลง ส่วนการประคบร้อนตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นจะช่วยในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ข้อต่อและเส้นเอ็น

การประคบเย็นจะเกิดผลดีที่สุดเมื่อนำมาใช้กับอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ตัวอย่างเช่น ใช้ถุงน้ำแข็งหรือถุงเก็บความเย็นในทันทีที่เกิดแผลฟกช้ำหรือเคล็ดขัดยอก ซึ่งสามารถช่วยลดอาการบวมโดยทำให้เส้นเลือดบริเวณนั้น ๆ หดตัว และการประคบเย็นจะเกิดผลดีที่สุดหากทำในทันทีหรือภายใน 24-48 ชั่วโมง หลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ

หากเป็นอาการเจ็บปวดเรื้อรังหรืออาการที่กลับมาเกิดซ้ำจึงจะจำเป็นต้องใช้การประคบร้อน เพราะต้องให้มีการไหลเวียนของเลือดซึ่งประกอบด้วยออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็นในการฟื้นฟูหรือบรรเทาอาการ

ข้อควรระวังในการประคบร้อน

ระมัดระวังบริเวณที่ไม่ควรประคบร้อน คือบริเวณที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นอาการฟกช้ำหรืออาการบวมและอาจไม่ใช่เลยทั้ง 2 อย่าง ซึ่งในกรณีนี้อาจใช้วิธีประคบเย็นไปก่อน รวมไปถึงไม่ควรใช้วิธีประคบร้อนลงบริเวณที่เป็นการบาดเจ็บที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะอาจจะทำให้แผลฟื้นฟูได้ช้าและอาจทำให้เกิดการอักเสบได้

นอกจากนั้น ไม่ควรใช้วิธีประคบร้อนกับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะทางร่างกายบางอย่าง เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดแผลไหม้หรือพุพอง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการประคบ โดยผู้ที่ควรระวัง มีดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่เป็นผิวหนังอักเสบ
  • ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือด
  • ผู้ที่เป็นโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทอย่างโรคเอ็มเอส (Multiple Sclerosis: MS)
  • ผู้ป่วยที่เส้นประสาทอักเสบจากโรคเบาหวานหรือภาวะอื่น ๆ รวมไปถึงโรคเรนอด์ (Raynaud Disease) ควรประคบร้อนด้วยความระมัดระวังในบริเวณที่ไร้ความรู้สึก หรือปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบำบัดด้วยความร้อนหรือประคบร้อน
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนหากต้องการอบซาวน่าหรือแช่น้ำร้อน

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการประคบร้อน

ความเสี่ยงเมื่อประคบร้อนด้วยอุณหภูมิที่สูงจนเกินไปอาจทำให้ผิวหนังไหม้และพุพอง หรือหากมีการติดเชื้อใด ๆ วิธีประคบร้อนอาจทำให้การติดเชื้อเกิดการลุกลามหรือแพร่กระจายได้ รวมไปถึงไม่ควรใช้เวลาในการประคบเกิน 20 นาที จึงจะให้ผลดีและมีความปลอดภัย

ประคบร้อนอย่างปลอดภัย
สามารถประคบร้อนได้อย่างปลอดภัย ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ระมัดระวังอย่าใช้อุณหภูมิสูงจนเกินไป
  • ไม่ควรใช้เวลาในการประคบเกินกว่า 15-20 นาที
  • ควรใช้ผ้าขนหนูห่ออุปกรณ์ที่ให้ความร้อนเอาไว้เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง
  • หากเกิดตุ่มพองและเป็นรอยแดง ให้ระมัดระวัง เพราะผิวอาจไหม้ได้
  • ควรปรึกษาแพทย์ หากการประคบร้อนไม่ทำให้อาการดีขึ้นหรือทำให้อาการแย่ลง

About aujchara.to

Check Also

เดลิเวอรียุคโควิด กินอย่างไรให้ได้สุขภาพ

                …

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *