Home / ข่าวเด่น / ชวนเด็กพิเศษ ขยับกายอย่างไรให้ถูกวิธี

ชวนเด็กพิเศษ ขยับกายอย่างไรให้ถูกวิธี

เด็กที่มีความต้องการพิเศษ จัดเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับความช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องด้วยปัญหาทางสภาพร่างกายและความบกพร่องทางสติปัญญา อย่างไรก็ตามหากได้รับการฝึกฝน หรือมีกิจกรรมทางกายที่ถูกวิธี ก็สามารถช่วยทำให้เด็กเหล่านี้ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ทาง สสส. ร่วมกับกรมพลศึกษา และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม จัดเสวนาออนไลน์พร้อมเปิดตัว “หลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ” ระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) และ “คู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) มีเป้าหมายพัฒนาทักษะทางร่างกาย เพิ่มโอกาสการเรียนรู้วิชาพลศึกษาอย่างเท่าเทียม เพื่อให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เหมือนเด็กทั่วไปในสังคม

ชวนเด็กพิเศษ ขยับกายอย่างไรให้ถูกวิธี thaihealth

“นางภรณี ภู่ประเสริฐ” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ให้ข้อมูลว่า เด็กกลุ่มที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หรือกลุ่มเด็กพิเศษ มักไม่ได้รับบัตรคนพิการ เนื่องจากประเภทความพิการของเด็กกลุ่มนี้ ต้องอาศัยเวลาประเมินความพิการ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับบัตรคนพิการช้ากว่าคนพิการกลุ่มอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะพบเด็กกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น

นางภรณี บอกว่า สสส. จึงร่วมพัฒนาหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกาย และคู่มือกิจกรรมทางกายฯ (ฉบับผู้ปกครอง) เพื่อทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษทั่วประเทศ ได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพ ไม่ถูกละเลย หรือถูกเลือกปฏิบัติในรั้วโรงเรียนและสังคม โดยตั้งเป้าภายในปี 2565 ร่วมกับกรมพลศึกษา ผลักดันให้เกิดการจัดการอบรมขยายในวงกว้างให้ครูในโรงเรียนเรียน ร่วมได้เพิ่มเติมศักยภาพในการสอนกิจกรรมทางกาย ได้อย่างถูกต้องตามหลักการ

ชวนเด็กพิเศษ ขยับกายอย่างไรให้ถูกวิธี thaihealth

จนส่งผลให้เกิดสุขภาวะกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ในโรงเรียนเรียนร่วมทั่วประเทศ และเผยแพร่คู่มือการสอนกิจกรรมทางกาย สำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) ให้ถึงมือผู้ปกครองของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อผู้ปกครองจะได้มีส่วนในการพัฒนาสุขภาวะอย่างต่อเนื่อง ให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่บ้านต่อไป

ชวนเด็กพิเศษ ขยับกายอย่างไรให้ถูกวิธี thaihealth

“อย่ามองเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เป็นเพียงคนด้อยโอกาส แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กเหล่านี้ต้องการโอกาสที่เท่าเทียมกับเด็กปกติทั่วไป” เป็นมุมมองจาก ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา ในฐานะที่ปรึกษาโครงการสร้างเสริมสุขภาวะ ให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ

ดร.นิวัตน์ กล่าวว่า กิจกรรมทางกายมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี แต่ปัญหาตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันพบว่า โรงเรียนระดับประถมศึกษาหลายแห่ง ไม่มีครูที่จบสาขาวิชาพลศึกษาโดยตรง ทำให้ทักษะการทำกิจกรรมทางกายขั้นพื้นฐานในโรงเรียนถูกสอนแบบไม่ถูกต้อง จนทำให้เด็กบางคนมีพฤติกรรมต่อต้าน ไม่รักการออกกำลังกายและเล่นกีฬา

ดร.นิวัตน์ บอกต่อว่า กรมพลศึกษาจึงได้ร่วมกับ สสส. มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม จัดทำหลักสูตรอบรมครูสอนวิชาพลศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สำหรับครูพลศึกษาในโรงเรียน เพื่อเพิ่มทักษะให้ครูรู้จักการออกแบบกิจกรรมทางกายในวิชาเรียน ให้เหมาะสมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กทั่วไป

ชวนเด็กพิเศษ ขยับกายอย่างไรให้ถูกวิธี thaihealth

ขณะที่ “ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์” ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา กล่าวว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ อาจควบคุมตัวเองไม่ได้เหมือนเด็กปกติ กิจกรรมทางกายจะช่วยกระตุ้นให้เด็กได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกิจกรรม เช่น เด็กต้องทำอะไร ทำอย่างไร ให้บรรลุเป้าหมาย ผ่านการทดสอบ ยก จับ หิ้ว เหวี่ยง ขว้าง ปา ซึ่งการทำกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้รู้ได้ทันทีว่า เด็กต้องการได้รับการพัฒนาด้านใด ครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ เพื่อนำไปพัฒนาทักษะเด็กให้ได้ตรงจุด ผ่านกระบวนการออกแบบการเคลื่อนไหว

ชวนเด็กพิเศษ ขยับกายอย่างไรให้ถูกวิธี thaihealth

“เพราะครูเปรียบเสมือนโค้ชและนักจิตวิทยาที่คอยให้ข้อแนะนำ กระตุ้นให้เด็กทำในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบและถนัด สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความรัก ความจริงใจในการดูแล รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนต้องมีความรู้ความเข้าใจ บริบทของเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วย ส่วนผู้ปกครองต้องเข้าใจในตัวของเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น ไม่ควรมองว่าเป็นปัญหา แต่ต้องให้ความเอาใจใส่ เพราะเรื่องของพัฒนาการเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาไม่ควรเพิ่มความกดดัน แต่ควรให้ความอบอุ่นกับเด็ก โดยจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดมาจากครอบครัว” ศ.ดร.เจริญ กล่าว

ชวนเด็กพิเศษ ขยับกายอย่างไรให้ถูกวิธี thaihealth

สำหรับคู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสําหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) ได้แนะนำการเลือกกิจกรรม ให้เหมาะสมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ดังนี้

1) ทักษะการเคลื่อนไหวทุกชนิดที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ได้แก่

– การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่ เช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดด การกระโจน

– การเคลื่อนไหวแบบอยู่กับที่ เช่น การขว้าง การตี การโยน

– การเคลื่อนไหวกับวัตถุ เช่น การเล่นกับบอล เชือก

2) การมีทรวดทรงและบุคลิกภาพที่ดี เช่น การนั่ง การยืน การเดิน ผู้ฝึกสอนต้องแก้ไขทรวดทรง ที่ผิดปกติตั้งแต่เด็ก

3) กิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพและสุขภาพ เช่น การเดินต่อเนื่อง การปั่นจักรยาน การวิ่งเหยาะ เกมง่ายๆ

4) การออกกําลังเพื่อสุขภาพระดับปานกลางถึงหนัก ควรทําอย่างน้อย 20 นาที/ครั้ง จํานวน 3 ครั้ง/สัปดาห์

ขณะที่กิจกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่

1) กีฬาปะทะรุนแรง

2) กิจกรรมเสี่ยง กิจกรรมผาดโผน

3) กิจกรรมยืดหยุ่น/ยิมนาสติก (ม้วนหน้า ม้วนหลัง ฯลฯ)

4) การชนกระแทก แบบรักบี้ฟุตบอล

5) กิจกรรมที่ต้องใช้ความอดทนสูง

การพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษ นับเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยการเสริมแรงบวก และเข้าใจความแตกต่าง เพื่อให้เด็กพิเศษได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของเขาเอง ขณะเดียวกัน สสส. ขอส่งเสริมให้ประชากรทุกกลุ่มวัย ได้มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ เพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลโรค

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดคู่มือการสอนกิจกรรมทางกาย สําหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) ได้ที่   www.thaihealth.or.th

ที่มา : https://www.thaihealth.or.th

About aujchara.to

Check Also

ศูนย์กีฬาและสุขภาพเปิดให้บริการแล้ว

ศูนย์กีฬาและสุข …

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *